TVO ใช้มาตรการป้องกันโรค ASF
21 ตุลาคม 2562โรค ‘ASF ในสุกร’ อาจเป็นชื่อที่ฟังดูไม่คุ้นหูนัก แต่เชื่อหรือไม่ นี่คือโรคในสุกรที่จะส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจได้อีกมากมายมหาศาล
โรค ASF ในสุกร (African Swine Fever) หรือ ‘โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร’ กำลังแพร่ระบาดในหลายประเทศ และอีกหลายประเทศก็ตระหนักถึงความรุนแรงที่อาจตามมา ไม่เพียงแต่เฝ้าระวัง แต่รัฐยังออกมาตรการป้องกันเพื่อไม่ให้โรคนี้แพร่ระบาดจนเกิดผลเสีย... แล้วประเทศไทยล่ะ เราตระหนักรู้ และเตรียมการป้องกันเกี่ยวกับโรค ASF ในสุกรนี้เพียงใด
ความน่ากลัวของ ASF ที่เราต้องทราบ
โรค ASF ในสุกร เกิดจากเชื้อไวรัสแอสฟาร์ (Asfravirus) ที่แม้จะไม่ได้เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน แต่ก็เป็นโรคระบาดร้ายแรงในสุกร หรือหมู และพบว่าสุกรที่ติดเชื้อเหล่านี้มีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 100 เปอร์เซ็นต์ สุกรที่ป่วยยังสามารถเป็นพาหะนำโรคได้ด้วย
นอกจากนี้ยังพบด้วยว่า เชื้อ ASF มีความคงทนในทุกผลิตภัณฑ์จากสุกร และสิ่งแวดล้อมได้สูง ทั้งเลือด เนื้อ กระดูก สารคัดหลั่ง และของเสียที่ขับออกจากสุกร ล้วนเสี่ยงต่อเชื้อที่นำไปสู่โรค ASF ในสุกรนี้แทบทั้งสิ้น
ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกัน และควบคุมโรคนี้ ด้วยผลกระทบที่เกิดขึ้นสามารถส่งผลต่อภาพรวมของเศรษฐกิจได้ หลายประเทศจึงต้องเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด ในขณะเดียวกันการออกมาตรการป้องกันที่เป็นรูปธรรมเพื่อป้องกันการระบาดก็เป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก ก่อนความเสียหายจะเกิดขึ้นอย่างในประเทศฟิลิปปินส์ และ เกาหลีใต้ ซึ่งเป็นประเทศล่าสุดที่กำลังเผชิญกับโรค ASF ในสุกร ภาครัฐจึงได้ออกมาตรการป้องกัน และควบคุมเพื่อไม่ให้โรคนี้แพร่ระบาดจนส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ ในขณะที่ภาคเอกชนอุตสาหกรรมปศุสัตว์ก็เฝ้าระวังผ่านมาตรฐานระดับที่น่าเชื่อถือได้
เกิดอะไรขึ้นที่ประเทศไทย เราเฝ้าระวังดีพอหรือยัง ?
สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันยังไม่ได้มีการประกาศจากภาครัฐเรื่องการระบาดของโรค ASF ในสุกร แต่นั่นไม่ได้แปลว่าภาครัฐ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องนิ่งนอนใจมิได้เฝ้าระวังโรคนี้ เนื่องจากสถานการณ์ล่าสุด โรค ASF ในสุกรเข้าใกล้ประเทศไทยมากขึ้น โดยเริ่มระบาดแล้วในเขตชายแดนของประเทศไทย เช่น เวียดนาม กัมพูชา ลาว และเมียนม่า การเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างต่อเนื่องเช่นนี้ทำให้หลายฝ่ายตระหนัก และมีมาตรการป้องกันอย่างเป็นรูปธรรม
ปัจจุบันประเทศไทยประกาศเป็นเขตเฝ้าระวังการระบาดของโรค ASF ในสุกร แล้ว 27 จังหวัด (ข้อมูลจากกรมปศุสัตว์ 8 ตุลาคม 2562) ให้เป็นเขตเฝ้าระวังโรค 22 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย พะเยา น่าน อุตรดิตถ์ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ สระแก้ว จันทบุรี ตราด ราชบุรี ระนอง และประจวบคีรีขันธ์ รวมถึงอีก 5 จังหวัดที่ถูกประกาศเป็นเขตเฝ้าระวังบางส่วน ได้แก่ ตาก (5 อำเภอ) ได้แก่ อุ้มผาง แม่สอด ท่าสองยาง แม่ระมาด และพบพระ พิษณุโลก (2 อำเภอ) ได้แก่ ชาติตระการ และนครไทย เพชรบุรี (2 อำเภอ) ได้แก่ หนองหญ้าปล้อง และแก่งกระจาน กาญจนบุรี (5 อำเภอ) ได้แก่ สังขละบุรี ทองผาภูมิ ไทรโยค เมืองกาญจนบุรี และด่านมะขามเตี้ย และชุมพร ที่อำเภอท่าแซะ
สำหรับภาคเอกชนไทย การป้องกัน และเฝ้าระวังโรค ASF ในสุกรมีความสำคัญอย่างมากเช่นกัน ตัวอย่างหนึ่งของมาตรการป้องกันที่เป็นรูปธรรมจากภาคเอกชน คือ ระบบ Biosecurity ซึ่งนับเป็นมาตรฐานด้านความปลอดภัยที่มีผลต่อการแพร่ระบาดของโรค ASF ในสุกรได้เป็นอย่างดี แม้จะยังไม่มีการระบาดของโรคนี้ แต่การป้องกัน และเฝ้าระวังด้วยมาตรฐานของระบบการผลิตที่น่าเชื่อถือก็นับเป็นมาตรการควบคุมโรคนี้ได้ดีอีกทางหนึ่ง
ตัวอย่าง ระบบ Biosecurity ของโรงงานผลิตวัตถุดิบอาหารสัตว์ ที่ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการแพร่ระบาดของโรค ASF ในสุกร โดยที่ภาคเอกชนหลายแห่ง ได้ลงทุนเพื่อควบคุมการผลิต คุณภาพของผลิตภัณฑ์ และระบบการดำเนินงาน เพื่อให้ปลอดเชื้อโรค ASF ในสุกร ตั้งแต่ขั้นตอนการขนส่ง บุคลากรในระบบปฏิบัติงาน โดยในระบบ Biosecurity เริ่มต้นกับการให้ความสำคัญตั้งแต่รถทุกคันที่เข้าออกในพื้นที่ หากเคยบรรทุกสินค้า ‘ประเภท Meat and Bone’ หรือผ่านพื้นที่ที่มีความเสี่ยง จะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าพื้นที่เด็ดขาด รวมถึงรถทุกคันที่จะผ่านเข้าพื้นที่ยังต้องฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ และล้างล้อด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อได้รับการรองรับจากสถานบันชั้นนำ
บุคลากรในระบบปฏิบัติงานก็มีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากคนสามารถเป็นพาหะนำโรคได้บุคคลกรทุกคนที่จะเข้า-ออกพื้นที่โรงงาน และการผลิต จะถูกตรวจสอบว่ามีสิ่งของต้องห้ามประเภทผลิตภัณฑ์จากสุกรเข้าไปในพื้นที่หรือไม่ รวมถึงต้องทำความสะอาดร่างกายก่อนเข้าพื้นที่ และรับประทานอาหารในพื้นที่จัดเตรียมไว้เท่านั้น
นอกจากนี้ในระบบ Biosecurity ยังต้องเริ่มตั้งแต่การคัดสรรวัตถุดิบตั้งต้นในทุกผลิตภัณฑ์จากแหล่งวัตถุดิบที่ปลอดเชื้อ ก่อนเข้าสู่กระบวนการผลิตโดยผ่านความร้อน 110 องศาเซลเซียส ซึ่งจะสามารถทำลายเชื้อ ASF และเชื้อโรคอื่นๆ ได้ และต้องผ่านการตรวจสอบในห้องปฏิบติการอย่างสม่ำเสมอ เพื่อตรวจหาเชื้ออื่น ๆ โดยเฉพาะเชื้อโรค ASF ในสุกรก่อนส่งถึงมือผู้บริโภค และที่สำคัญการได้รับการรองรับมาตราฐานจากสถานบันต่างๆ อาทิ GMP, GMP+, HACCP, FSSC22000 ก็เป็นอีกหนึ่งความมั่นใจเช่นกัน
ระบบ Biosecurity จึงนับเป็นมาตรฐานความปลอดภัยจากภาคเอกชนที่น่าสนใจอย่างมาก ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค ASF ในสุกรเช่นนี้
นอกเหนือจากระบบ Biosecurity ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ดีจากภาคเอกชน รวมถึงมาตรการป้องกันต่างๆ จากภาครัฐแล้ว ภาคประชาชนเองก็ยังสามารถมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังได้ โดยเฉพาะเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรที่ควรติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด แจ้งเบาะแส หรือหากมีข้อสงสัยก็สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักควบคุมป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์ สายด่วน Call Center 063-225-6888 หรือแอปพลิเคชัน DLD 4.0
ที่มาเนื้อหาข่าว : ไทยรัฐออนไลน์